ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจโรคหนังตาอักเสบ (Blepharitis)  (อ่าน 186 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 126
    • ดูรายละเอียด
ตรวจโรคหนังตาอักเสบ (Blepharitis)
« เมื่อ: 22 กันยายน 2024, 14:24:24 pm »
ตรวจโรคหนังตาอักเสบ (Blepharitis)

หนังตาอักเสบ (เปลือกตาอักเสบ ก็เรียก) หมายถึง การอักเสบของหนังตาหรือเปลือกตา (eyelid) มักเป็นที่บริเวณขอบตาในส่วนที่มีขนตางอกออกมา มักเป็นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง

หนังตาอักเสบ แบ่งออกเป็นชนิดหลัก ๆ ได้ 2 ชนิด ได้แก่ หนังตาอักเสบชนิดเป็นแผลเปื่อย (staphylococcal blepharitis ซึ่งสัมพันธ์กับเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส พบมากในคนอายุน้อย) และหนังตาอักเสบชนิดเป็นเกล็ดรังแค (seborrheic blepharitis ซึ่งไม่ทราบสาเหตุ พบมากในคนวัยกลางคน)

โรคนี้อาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง แต่ไม่ติดต่อให้ผู้อื่น

สาเหตุ

โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งอย่างร่วมกันต่อไปนี้

    การติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ สแตฟีโลค็อกคัส ซึ่งมีการเพิ่มจำนวนขึ้นที่บริเวณหนังตาโดยไม่ทราบสาเหตุ
    เป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแคหรือโรคเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) อาจจะพบร่วมกับภาวะมีรังแคที่หนังศีรษะ ใบหู และคิ้ว (ดู “โรคผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแค” เพิ่มเติม)
    ต่อมไขมันใกล้ฐานขนตามีการอุดตัน หรือผลิตน้ำมันมากเกิน
    เป็นโรคภูมิแพ้ รวมทั้งการแพ้สารบางชนิด เช่น เครื่องสำอางแต่งตา น้ำยาคอนแทคเลนส์ ยารักษาโรคตา เป็นต้น
    เป็นโรคโรซาเซีย (rosacea ซึ่งเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือดภายใต้ผิวหนัง มีอาการหน้าแดง)
    มีเหา โลน หรือตัวไรที่ขนตา

อาการ

สำหรับหนังตาอักเสบชนิดเป็นแผลเปื่อย ผู้ป่วยจะรู้สึกเคืองตา แสบตา คล้ายมีอะไรเข้าตา ซึ่งมักจะเป็นมากตอนเช้าและจะทุเลาลงตอนสาย

อาจมีอาการหนังตาคัน หนังตาบวมแดง มีอาการตาแดง น้ำตาไหล และกลัวแสง

อาจมีคราบหนองติดที่ขอบตา เมื่อเขี่ยออกอาจมีเลือดซึม ต่อมขนตาที่ขอบตาจะเป็นตุ่มหนองแล้วแตกเป็นแผล เวลาตื่นนอนตาจะติดเพราะมีคราบหนอง ผู้ป่วยอาจมีประวัติเป็นกุ้งยิง เป็น ๆ หาย ๆ บ่อย

สำหรับหนังตาอักเสบชนิดเป็นเกล็ดรังแค มีอาการคล้ายกับชนิดแผลเปื่อยแต่น้อยกว่า มักพบใบหน้ามัน มีสะเก็ดเป็นเกล็ดมัน ๆ ที่ขนคิ้ว ขนตา และหนังตา


ภาวะแทรกซ้อน

อาจทำให้ขนตาร่วง เกิดแผลเป็นตรงขอบตา ขนตาเกเข้าข้างในตา ตาแห้ง เป็นกุ้งยิงหรือเยื่อตาขาวอักเสบบ่อย กระจกตาอักเสบ หรือแผลกระจกตา


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

หนังตาอักเสบชนิดเป็นแผลเปื่อย มีอาการหนังตาบวมแดง ตาแดง พบคราบหนองที่ขอบตา มีสะเก็ดรอบ ๆ ขนตาเป็นวง ๆ อาจพบขนตาเปลี่ยนเป็นสีขาว ขนตาร่วง ขนตาเกเข้าข้างในตา ผิวหนังของเปลือกตาอาจเป็นแผลถลอก หรือมีเนื้อเยื่อหลุดลอกเป็นแผล

หนังตาอักเสบชนิดเกล็ดรังแค มีอาการหนังตาบวมแดงเล็กน้อย ตาแดงเล็กน้อย มักพบใบหน้ามัน มีเกล็ดมัน ๆ ที่ขนตา ขนคิ้ว และหนังตา ซึ่งเขี่ยออกได้ง่าย อาจพบรังแคที่หนังศีรษะ ใบหู และคิ้วร่วมด้วย

บางรายแพทย์อาจใช้สำลีเช็ดเปลือกตา เก็บตัวอย่างน้ำมันหรือสะเก็ดรอบเปลือกตาไปตรวจหาสาเหตุ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ในรายที่เป็นแผลเปื่อยและมีคราบหนอง ให้ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำสุกหรือน้ำเกลือเช็ดชำระให้สะอาด ประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ แล้วใช้ยาป้ายตาปฏิชีวนะอีริโทรไมซิน ป้ายที่ขอบหนังตา วันละ 3-4 ครั้ง ในรายที่มีการอักเสบมาก ให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน 5-7 วัน

2. ในรายที่ไม่มีแผลเปื่อย มีเพียงเกล็ดสีขาวของรังแค ให้ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำสุกหรือน้ำเกลือเช็ดชำระออก และใช้แชมพูรักษารังแค เช่น ซีลีเนียมซัลไฟด์ (selenium sulfide) ซิงค์ไพริไทโอน (zinc pyrithione) หรือโคลทาร์ (coal tar) สระผมและบริเวณที่เป็นรังแคทุกวัน ถ้ามีอาการคันหรือบวมแดงมากให้ใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์ทาตรงบริเวณขอบตาวันละ 3-4 ครั้ง

3. ในรายที่มีกระจกตาอักเสบร่วมด้วย ใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์หยอดตาลดการอักเสบ

4. ในรายที่มีอาการตาแห้ง ใช้น้ำตาเทียมหยอดตา

5. ทำการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแค โรคโรซาเซีย


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น หนังตาบวมแดง คัน เคืองตา ตาแดง ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็น ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หากมีคราบหนอง ให้ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำสุกหรือน้ำเกลือเช็ดชำระให้สะอาด
    ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นจัดประคบหนังตา โดยหลับตาข้างที่ประคบ
    งดใช้เครื่องสำอางแต่งตาจนกว่าโรคจะหาย


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน 
    มีอาการปวดตา หนังตาบวมแดงมากขึ้น ตาแดง มีขี้ตาแฉะ หรือเป็นกุ้งยิง 
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

โรคนี้ยังไม่มีวิธีป้องที่ได้ผล แต่อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ลงได้โดย

    หมั่นรักษาความสะอาดใบหน้า เปลือกตา และผิวหนังรอบ ๆ ตา รวมทั้งหมั่นสระผมบ่อย ๆ
    หากมีการใช้เครื่องสำอาง ควรต้องล้างออกให้สะอาดก่อนเข้านอนทุกครั้ง
    พยายามอย่าให้ตาและเปลือกตาสัมผัสถูกสารที่แพ้
    รักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดหนังตาอักเสบ

ข้อแนะนำ

โรคนี้มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง น่ารำคาญ หากได้รับการดูแลรักษาและรู้จักดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง จะไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคนี้ควรเรียนรู้วิธีดูแลรักษาตนเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจัง



 

Tage: ลงประกาศฟรี โฆษณาสินค้าฟรี ลงประกาศขายบ้านฟรี ลงประกาศขายบ้าน ลงประกาศขายที่ดินฟรี ลงประกาศขายคอนโดฟรี ขายรถ สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ลงประกาศฟรี ติด google